เชื่อไหมคะผู้หญิงทั่วโลกต่างกังวลเรื่องความงาม ยิ่งเป็นสิ่งที่เห็นง่ายอย่างผิวหนังด้วยแล้วยิ่งทำให้กังวลมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาผิวแห้ง มักเกิดริ้วรอยได้ง่าย และสิ่งที่ผิวแห้งต้องการมากที่สุดก็คือ “น้ำ” ค่ะ
ความสำคัญของน้ำต่อผิวหนัง
น้ำมีความสำคัญต่อผิวหนังอย่างมาก โดยเป็นตัวที่ช่วยให้ผิวมีความนุ่มเนียนและคงความยืดหยุ่นของผิวไว้ นอกจากนี้ในกระบวนการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกนั้น เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ช่วยผลัดเซลล์ผิวต้องอาศัยน้ำในการทำงาน ดังนั้นถ้าปริมาณน้ำในผิวลดลงอาจทำให้กระบวนการนี้ผิดปกติและเกิดเป็นขุยหรือสะเก็ดปกคลุมผิวหนังได้
กลไกการรักษาน้ำตามธรรมชาติของผิว
ผิวหนังชั้นนอกสุด(stratum corneum)หรือที่เรียกว่า “ชั้นขี้ไคล” ทำหน้าที่หลักในการรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิว ผิวหนังชั้นนี้ จะประกอบด้วยเซลล์ผิวหนังที่ไม่มีชีวิตเรียงซ้อนกันเป็นชั้นหนาประมาณ10-20ชั้น ภายในเซลล์เหล่านี้จะมีสารจำพวกโปรตีนที่เรียกว่า เคอราติน (keratin) และ Natural Moisturizing Factors (NMF) ซึ่งมีคุณสมบัติในการซึมซับอุ้มน้ำได้มากและเป็นตัวช่วยเก็บกักน้ำไว้ในผิว ระหว่างเซลล์จะมีไขมันแทรกอยู่เป็นชั้น ๆ ทำหน้าที่อุดกั้นไม่ให้น้ำสามารถผ่านออกจากเซลล์เหล่านี้ไปยังสิ่งแวดล้อมภายนอก นอกจากนี้ต่อมไขมันที่ผิวหนังจะสร้างสารไขมันหลั่งออกตามรูขุมขน สารไขมันจะแผ่อออกเคลือบผิวของชั้นหนังกำพร้า ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นมากขึ้นอีกด้วย
ปกติคนเราควรมีปริมาณน้ำในผิวหนัง 20-35% ถ้าปริมาณน้ำลดลงน้อยกว่า10% จะเกิดภาวะ ผิวแห้งขึ้น โดยผิวจะมีความยืดหยุ่นลดลงและลักษณะหยาบ เป็นขุย ถ้าแห้งมากอาจแตกเป็นร่อง แดง คัน และเกิดผื่นผิวหนังอักเสบตามมาได้ในที่สุด
ปัจจัยที่มีผลต่อความชุ่มชื้นของผิวหนัง
1. พันธุกรรม ลักษณะผิวหนังของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นกับพันธุกรรมของแต่ละคนว่ามีลักษณะผิวอย่างไร นอกจากนี้โรคทางผิวหนังหลายชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะทำให้มีผิวแห้งกว่าคนปกติ
2. สภาวะแวดล้อม สภาวะแวดล้อมรอบตัวเรามีอิทธิพลต่อการเกิดผิวแห้งอย่างมาก ในประเทศไทยมีความชื้นในบรรยากาศสูงทำให้อุบัติการณ์โรคผิวแห้งไม่สูงเท่าประเทศแถบตะวันตก อย่างไรก็ตามควรระวังในฤดูหนาว เนื่องจากอากาศเย็นและความชื้นในบรรยากาศจะลดลงมากจนทำให้การสูญเสียน้ำออกจากผิวหนังเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ผิวหนังอักเสบจากความแห้ง
3. อายุ เมื่อคนเราอายุมากขึ้น กลไกธรรมชาติที่ผิวหนังรักษาความชุ่มชื้นไว้จะลดน้อยลง ต่อมไขมันและเซลล์ผิวหนังจะสร้างสารไขมันลดลง เราจึงมักเห็นผิวแห้งเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย โดยเฉพาะสตรีวัยทอง ที่มีอายุตั้งแต่45 ปีขึ้นไป
4. พฤติกรรมและการดำเนินชีวิต ผู้ที่ชอบล้างมือบ่อย ๆ ฟอกตัวด้วยสบู่ที่เป็นด่างนานๆ ออกแดดประจำหรือทำงานกลางแจ้ง ทั้งสารเคมี แสงแดด ลม ความชื้นในบรรยากาศ จะมีอิทธิพลต่อการเสียน้ำออกจากผิวหนัง จนทำให้เกิดภาวะผิวหนังแห้ง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกที่มีผลกระทบต่อความชุ่มชื้นผิวหนัง เช่น ระดับฮอร์โมน ยาบางชนิด ภาวะโภชนาการบกพร่อง ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดผิวแห้ง ต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยต้นเหตุดังที่กล่าวมา โดยสวมถุงมือ เสื้อผ้าให้มิดชิด และทาครีมหรือโลชั่นเคลือบผิวที่เรียกว่า มอยส์เจอร์ไรเซอร์
รู้จักมอยส์เจอร์ไรเซอร์
มอยส์เจอร์ไรเซอร์(Moisturizer)คือ สารทาภายนอกที่สามารถเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังได้ อาจมีอยู่หลายรูป เช่น ครีม โลชั่น ขี้ผึ้ง เป็นต้น ส่วนประกอบของมอยส์เจอร์ไรเซอร์มีดังนี้
1. สารปิดกั้นไม่ให้น้ำซึมผ่าน(Occlusive)ออกฤทธิ์โดยปิดกั้นไม่ให้น้ำซึมผ่าน เมื่อทาลงบนผิวหนังจะกระจายตัวออกคลุมผิวหนังเป็นแผ่นฟิล์มบาง ๆ กันไม่ให้น้ำภายในผิวหนังซึมออกสู่ภายนอก ทำหน้าที่คล้ายเกราะอ่อนป้องกันสารเคมีไม่ให้ระคายผิวหนัง แต่ถ้าล้างหรือฟอกผิวหนังบ่อยๆ ด้วยสบู่ที่มีการชะล้างสูง หรือการถูเช็ดกับผ้า จะทำให้มอยส์เจอร์ไรเซอร์หลุดออกจากผิวหนัง อาจต้องทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ซ้ำหลายครั้งต่อวัน ตามสภาพการดำเนินชีวิตประจำวัน สารกลุ่มนี้ได้แก่ petrolatum,lanolin,dimethicone เป็นต้น
2. สารที่ช่วยดูดซับน้ำ(Humectant)มอยส์เจอร์ไรเซอร์กลุ่มนี้เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังโดยการจับน้ำในผิวหนังไว้ไม่ให้ระเหยไป สารกลุ่มนี้ได้แก่ lactic acid, polyol, mucopolysaccharide, urea, glycerol เป็นต้น สารกลุ่มนี้เมื่อทาบนผิวหนัง อาจระคายผิวหนังได้ ทำให้รู้สึกยิบ ๆ จึงควรระมัดระวังโดยเฉพาะผิวหนังที่มีการอักเสบอยู่
3. สารออกฤทธิ์ชนิดอื่นๆ ซึ่งผสมในมอยส์เจอร์ไรเซอร์ เพื่อให้มีคุณสมบัติอื่นเพิ่มมากขึ้นจากการให้ความชุ่มชื้นเพียงอย่างเดียว ที่นิยมได้แก่ สารกันแดด สารกลุ่มAHA ซึ่งช่วยผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกให้เร็วขึ้น สารที่ช่วยให้ผิวขาวขึ้น เช่น วิตามิน C, E, Niacinamide เป็นต้น
มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ดีควรมีคุณสมบัติ คือ สามารถลดการสูญเสียน้ำจากผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผิวชุ่มชื้นเรียบเนียนขึ้น ดูดซึมเร็ว ออกฤทธิ์ทันที และอยู่ได้นานบนผิวหนังโดยไม่ต้องทาซ้ำหลายครั้ง ไม่ก่อให้